แบบไหนที่เรียกว่า เสี่ยงติดเอชไอวี

แบบไหนที่เรียกว่า เสี่ยงติดเอชไอวี

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาการแบบไหนที่เรียกว่า เสี่ยงติดเอชไอวี เพราะหลายคนค่อนข้างมีความกังวลถึงความน่ากลัวของโรคเอดส์ เพราะเจ้าไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุนั้นยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ไปจนหมดจากร่างกาย ทำได้เพียงควบคุมไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายลงจนเสียหายได้ วันนี้เราได้นำความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและโรคเอดส์มาเพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกันอย่างถูกต้องครับ

ทำความรู้จักเอชไอวีกับเอดส์

โรคเอดส์ อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีความ เสี่ยงติดเอชไอวี หรือผู้ที่มีไวรัสนี้ในร่างกาย HIV ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus ที่จะเข้าไปรบราฆ่าฟันกับภูมิคุ้มกันของคนเราให้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนไม่อาจมีแรงเหลือพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคอื่นๆ ได้ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ได้โดยง่าย เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ วัณโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว ไตวาย หัวใจวาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมะเร็ง เป็นต้น หากผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะเจอโรคแทรกซ้อนรุมเร้า

แบบไหนที่เรียกว่า เสี่ยงติดเอชไอวี

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับความ เสี่ยงติดเอชไอวี

ในทางการแพทย์ มีการพิสูจน์และวิจัยในกลุ่มคนอย่างชัดเจนว่า เอชไอวีไม่สามารถแพร่เชื้อสู่กันด้วยการพูดคุย ไม่ติดต่อผ่านการหายใจ ไอ จาม การอาศัยอยู่ในห้องเดียวกัน หรือการสัมผัสภายนอกร่างกาย เช่น การจับมือ การกอด การจูบแบบปิดปาก แม้กระทั่งการใช้ห้องน้ำร่วมกัน อุปกรณ์กีฬาร่วมกัน เตียงนอนร่วมกัน อุปกรณ์รับประทานอาหาร โทรศัพท์ หรือขนส่งสาธารณะร่วมกัน เพราะเอชไอวีไม่ได้ติดต่อทางอากาศเหมือนกับไข้หวัด หรือโควิด 19 ที่สำคัญ แมลงหรือยุงไม่ได้ทำให้คนติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างแน่นอน

การที่คุณจะมีความ เสี่ยงติดเอชไอวี ได้นั้น คุณจะต้อง

  • มีจำนวนคู่นอนหลายคน
  • มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
  • มีการรับเลือดที่มีเชื้อเอชไอวี
  • มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้มีเชื้อ
  • มีการใช้อุปกรณ์สักเจาะที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
  • ติดต่อผ่านทางแม่ที่มีเชื้อสู่ลูกขณะตั้งครรภ์

วินิจฉัยความเสี่ยงอย่างไร

ปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสเอชไอวี แบ่งออกเป็น 5 ปัจจัย คือ

  • ช่องทางการรับเชื้อไวรัส หากมีบาดแผลก็จะทำให้ติดได้ง่ายขึ้น
  • ปริมาณเชื้อไวรัสที่ได้รับ ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด
  • จำนวนครั้งของความเสี่ยงสัมผัสเชื้อไวรัสเอชไอวี หากมีบ่อยก็เสี่ยงมาก
  • การติดเชื้อกามโรคอื่นๆ อยู่ก่อนแล้วจะทำให้ไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าปกติ
  • ความแข็งแรงของผู้รับเชื้อ หากสุขภาพของคุณไม่แข็งแรงในขณะนั้น ก็ย่อมมีโอกาสที่จะรับเชื้อได้ง่ายเช่นกัน

เสี่ยงแบบไหนที่ควรไปตรวจเอชไอวี

ในความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องรอให้มีความเสี่ยงก่อนถึงจะไปตรวจเอชไอวี เพราะไม่ว่าใครที่เคยมีเพศสัมพันธ์ ก็ย่อมมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ทั้งนั้น เนื่องจากเราไม่อาจรู้ว่าใครมีเชื้อเอชไอวีอยู่ หรือในคู่ที่กำลังจะแต่งงาน หรือต้องการวางแผนมีบุตรในอนาคตก็ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง แต่หากสงสัยว่า รับเชื้อเอชไอวีมา ควรรอระยะฟักตัวก่อน เพราะหากไปตรวจทันที ผลเลือดจะยังไม่สามารถแสดงผลของการติดเชื้อได้อย่างแม่นยำ แนะนำให้ตรวจหลังมีความเสี่ยงตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์ขึ้นไปจะดีกว่า

ระยะอาการของโรคเอดส์

ถ้าติดเอชไอวีแล้ว จะมีอาการอย่างไร

เอชไอวีจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะอาการใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ระยะไม่ปรากฎอาการ หรือ ระยะติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีอาการ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ออกมาให้เห็นเลย จึงดูเหมือนคนที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติ แต่อาจมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งถ้าไม่สังเกตเองก็จะไม่รู้เลย ในระยะนี้ จะก้าวเข้าสู่ระยะต่อไปโดยเฉลี่ยประมาณ 7-8 ปี แต่บางคนอาจไม่มีอาการนานถึง 10 ปีเลยทีเดียว และในช่วงนี้ ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อเอชไอวีต่อไปให้กับบุคคลอื่นได้ง่ายด้วยความรู้สถานะเอชไอวีของตัวเอง
  2. ระยะมีอาการสัมพันธ์กับเชื้อ หรือระยะเริ่มปรากฏอาการ ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติให้เห็น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน มีเชื้อราในปาก บริเวณกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก เป็นโรคงูสวัด หรือมีแผลเริมชนิดลุกลาม มีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ หนาวสั่น ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น ระยะนี้มีความสัมพันธ์กับเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายภูมิคุ้มกันให้ต่ำลง และอาจคงอยู่นานเป็นปี ก่อนจะกลายเป็นระยะต่อไป
  3. ระยะโรคเอดส์ ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกเชื้อไวรัสเอชไอวีทำลายลงไปมาก ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส” ซึ่งมีหลายชนิด แล้วแต่ว่าร่างกายจะติดเชื้อชนิดใด และเกิดที่ส่วนใด เช่น หากเป็นวัณโรคที่ปอด จะมีอาการไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Cryptococcus จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ความจำเสื่อม ซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อผู้ที่เข้าสู่ภาวะเอดส์ในระยะสุดท้ายนี้แล้วจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 ปี

เราไม่จำเป็นต้องรอให้มีความ เสี่ยงติดเอชไอวี

คุณควรให้ความใส่ใจในเรื่องของการป้องกันเชื้อไวรัสเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่มีความยุ่งยากเลย การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนเพียงคนเดียว การตรวจเลือดก่อนแต่งงาน หรือมีบุตร การหมั่นตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และขอรับคำปรึกษาเรื่องเอชไอวีจากแพทย์เป็นประจำ ทั้งนี้ การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกสารเสพติดทุกชนิดจะช่วยไม่ให้คุณนำพาตัวเองไปมีความเสี่ยง เช่นการมีเพศสัมพันธ์ที่มึนเมาขาดสติจนไม่รู้ว่าตัวเองได้ป้องกันโรคหรือไม่

เอชไอวีรักษาได้หรือไม่

“เอชไอวีรักษาได้” แต่จำนวนไวรัสไม่ได้ถูกกำจัด หรือหายไปจากร่างกายทั้งหมด โดยจะเป็นการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีที่จำเป็นต้องทานเป็นประจำทุกวันและเวลาเดิมตลอดชีวิต เพื่อควบคุมไม่ให้เจ้าไวรัสเจริญเติบโตมากจนไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อให้บกพร่องลง การที่คุณได้รู้สถานะเอชไอวีของคุณเร็ว เป็นประโยชน์ที่ให้คุณได้รับยาเข้าไปในกระแสเลือดทันที คุณสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ มีสุขภาพแข็งแรง อยากมีแฟน หรือมีลูกก็ทำได้ เพียงแต่ต้องเรียนรู้และเข้าใจโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ให้ถูกต้องครับ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง