แผลริมอ่อน เกิดจากอะไร?

แผลริมอ่อน เกิดจากอะไร?

แผลริมอ่อน อาจจะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนักว่าคือโรคอะไร แต่โรคนี้สามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งลักษณะอาการของแผลริมอ่อนนั้น ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกับโรคซิฟิลิส แต่ซิฟิลิสจะเกิดแผลริมแข็งที่ไม่ได้รู้สึกเจ็บและปวดเท่าแผลริมอ่อน ทุกคนสามารถเป็นโรคนี้ได้ทั้งเพศหญิงและชาย หากไม่ได้ทำการรักษาจะทำให้มีโอกาสติดไวรัสเชื้อเอชไอวีได้ง่ายอีกด้วย

แผลริมอ่อน คืออะไร

โรคแผลริมอ่อน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ฮีโมฟิลุส ดูเครย์ (Haemophilus Ducreyi) ซึ่งเชื้อนี้สามารถติดต่อกันได้หลายช่องทาง เช่น การสัมผัสโดนเชื้อโดยตรงและเข้าสู่บาดแผลที่มือ หรือมือไปสัมผัสโดนใส่และนำมาขยี้ดวงตา การสัมผัสทางร่างกายขณะมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก ทางปาก เป็นต้น

อาการของแผลริมอ่อนเป็นอย่างไร

แผลริมอ่อน มีระยะฟักตัวหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 5-7 วัน จึงจะค่อยๆ เริ่มเห็นการดำเนินของโรค ดังนี้

  • มีตุ่มนูนแดงที่อวัยวะเพศ และค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นแผลหนอง
  • ขนาดของแผลอาจมีขนาดตั้งแต่ 0.8-2 นิ้ว (ประมาณ 3-5 มม.)
  • ในเพศชายจะมีตุ่มขนาดเล็กจำนวนไม่มากขึ้นบริเวณหนังหุ้มปลายองคชาติและถุงอัณฑะ
  • แผลหนองที่เกิดขึ้นอาจแตกออก เป็นแผลเปิดกว้าง เมื่อมีการเสียดสี หรือผ่านระยะเวลาไปประมาณ 2-3 วัน รู้สึกปวดและเจ็บมาก
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวมโต ในบางรายอาจมีฝีขนาดใหญ่
  • รู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะ อุจจาระ หรือตอนที่มีเพศสัมพันธ์
  • มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
แผลริมอ่อน คืออะไร

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นแผลริมอ่อน

เราอาจจะสังเกตจากอาการ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หรือไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคนี้ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติความเสี่ยง และตรวจอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ จะมีการเก็บตัวอย่างหนองหรือจากแผลไปเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ เพราะแผลริมอ่อน ไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้จากการตรวจเลือด จะเป็นแค่บางกรณีเท่านั้น หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย

แผลริมอ่อน รักษาหายขาดหรือไม่

โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน หรืออาจใช้เป็นยาฉีดร่วมด้วย เพื่อให้แผลหายได้ไวขึ้นและลดโอกาสเกิดรอยแผลเป็น โดยตัวยาที่ใช้ ได้แก่

  • ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมคโครไลน์ (Macrolide) ที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาปฏิชีวนะ ในกลุ่มเพนิซิลิน (Penicillin) รวมไปถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ
  • ยาซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน (Quinolones) ที่ช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่มีผลต่อการรักษาเชื้อไวรัส
  • ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยการทำลายผนังเซลล์ทำให้แบคทีเรียตาย ใช้ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียกระจายลุกลามไปทั่วร่างกาย
  • ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมคโครไลน์ (Macrolide) ออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยเข้าไปลดการผลิตโปรตีนที่เป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรีย ใช้ในการรักษา หรือป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียต่างๆ

ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยรักษาแผลริมอ่อน และบรรเทาอาการให้ดีขึ้น การรักษาจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ ดังนั้น คุณควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับประวัติการใช้ยา หรือประวัติการแพ้ยา ก่อนการรักษาทุกครั้ง แต่หากพบว่ามีแผล หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโตขนาดใหญ่ จะต้องมีการเข้ารับการผ่าตัดด้วย เพื่อระบายเอาหนอง หรือฝีออก และลดโอกาสปวดบวมของแผล ซึ่งแพทย์อาจใช้การผ่าตัดหรือเจาะเอาหนองออก ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน หากมีการผ่าตัดช่วงระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือนนี้ ผู้ป่วยควรงดมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าแผลจะหายสนิท และต้องดูแลความสะอาดของร่างกายและแผลให้ดี ไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่ม

ไม่อยากเป็นแผลริมอ่อน ต้องป้องกันอย่างไร

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • คุณและคู่นอนควรไปตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
  • ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
  • สังเกตแผลหรืออาการที่เข้าข่ายของคู่นอน หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ใช้บริการทางเพศ หลีกเลี่ยงการมีเซ็กส์กับคนแปลกหน้า
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคที่ดี

กล่าวคือ แผลริมอ่อนอาจเรียกได้ว่าเป็น ซิฟิลิสเทียมประเภทหนึ่ง เพราะทำให้เกิดแผลในลักษณะคล้ายคลึงกัน และติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การป้องกันโรคไว้ดีกว่าแก้นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยและให้ความใส่ใจในการตรวจโรคเป็นประจำ จะทำให้คุณห่างไกลจากอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ได้อย่างแน่นอนครับ

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ