ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขได้เหมือนคนทั่วไป หากได้รับการรักษาและใช้ยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก อีกทั้งยาต้านไวรัสยังช่วยควบคุมเชื้อเอชไอวี ให้ผู้ติดเชื้อไม่ป่วยง่าย ไม่เป็นโรคฉวยโอกาสและสามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติ ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและดูแลตัวเองให้ดีด้วย
เอชไอวีและเอดส์คืออะไร
โรคเอดส์เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี เอชไอวีซึ่งย่อมาจากคำว่า human immunodeficiency virus เป็นเชื้อไวรัส ในขณะที่โรคเอดส์หรือ acquired immune deficiency syndrome คือกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกเชื้อไวรัสทำลายจนร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคทั้งหลายที่เข้าสู่ร่างกายได้
สาเหตุการติดเชื้อเอชไอวีที่พบบ่อยที่สุด คือ ติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ สัมผัสเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ หรือแม้แต่น้ำนมแม่ก็สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน
ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้ออย่างไร ให้ปลอดภัย
เมื่อต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือการหาความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอย่างรอบด้าน ทั้งการแพร่เชื้อ การป้องกันการติดเชื้อ การรักษา และการพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตามนัด
พฤติกรรมที่ทำแล้ว ไม่ติดเชื้อ
- การใช้ช้อนกลาง ระหว่างรับประทานอาหารร่วมกัน
- การกอด
- สามารถซักเสื้อผ้าร่วมกันได้ แต่ที่ต้องซักแยกกันและใส่ถุงมือเสมอ คือ ผ้าที่ปนเปื้อนเลือด สารคัดหลั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ
- การใช้สบู่ ครีมอาบน้ำ แชมพู ยาสีฟัน แป้ง ฯลฯ ร่วมกัน
แนวทางให้การปฏิบัติตัวของผู้ติดเชื้อเอชไอวี
สุขภาพกาย

- ผู้ติดเชื้อควรมีความใส่ใจในสุขภาพร่างกายของตน รักษาสุขภาพให้แข็งแรงและ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ งดรับประทานอาหารจำพวกไขมันสูง ของมัน ของทอด อาหารรสจัด หรือเนื้อสัตว์ที่สุกๆ ดิบๆ เน้นทานผักผลไม้ หรือศึกษาเรื่องโภชนาการให้มากขึ้น
- ควรงดเว้นการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดอาการป่วยแทรกซ้อนได้ง่ายในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ โรคที่พบได้บ่อย คือ โรคปอดอักเสบ โรคมะเร็งปอดหรือหัวใจวาย เป็นต้น
- งดเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ ควรป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเสมอ หรือแจ้งคู่นอนประจำให้ป้องกันเพิ่มเติมอีกขั้นด้วย ยาเพร็พ (PrEP)
- รับประทานยาต้านไวรัสให้ตรงเวลา สม่ำเสมอ หากลืมทานยาในวันนั้น ให้รีบทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ส่วนวันต่อไปให้ยึดตามเวลาเดิม การรับประทานยาต้านไวรัสอย่างเคร่งครัดจะช่วยควบคุมเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น และไม่เกิดอาการดื้อยา
- พึงระวังในการใช้ยารักษาโรคอื่นๆ รวมทั้งการรับประทานสมุนไพรหรืออาหารเสริมบางชนิดเพราะอาจส่งผลต่อเชื้อไวรัสเอชไอวีและสุขภาพของคุณได้
- งดบริจาคเลือด
- ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หรือหากมีอาการป่วยให้รีบพบแพทย์
- หากต้องการวางแผนครอบครัวหรือมีบุตรควรปรึกษาแพทย์
สุขภาพจิต

- ควรทำความเข้าใจกับตัวเองก่อน รักตัวเองและยอมรับความจริงว่าการติดเชื้อเอชไอวีนั้นไม่ทำให้เสียชีวิตโดยง่าย อาจเลือกพูดคุยหรือระบายความในใจกับบุคคลที่ตนเองไว้ใจและพร้อมจะรับฟัง เช่น คนในครอบครัว แฟนหรือเพื่อนสนิท หรือหากมีความวิตกกังวล มีอาการซึมเศร้าก็สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เกี่ยวกับเอชไอวี หรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อปรับความคิดในการดำเนินชีวิต สร้างคุณค่าให้กับตัวเองทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
- ฝึกทำสมาธิ เพื่อช่วยให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน รู้สึกผ่อนคลายและมีความสบายใจ
- ค้นหางานอดิเรกที่ชอบทำหรือทำในสิ่งที่มีความสุข ช่วยบรรเทาความเครียด
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในครอบครัว หรือในสถานที่ทำงานได้ เพราะเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่สามารถส่งผ่านกันได้โดยการกอด การสัมผัส การหายใจ การใช้ห้องน้ำร่วมกัน เพียงแต่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในสุขอนามัยที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หากรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ จนเชื้อลดลงจนแทบตรวจไม่พบหรือที่ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า U=U ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไปและยังไม่สามารถแพร่เชื้อ HIV ให้แก่คนอื่นได้อีกด้วย
เสี่ยงติดเชื้อ HIV ต้องทำอย่างไร?
หากคุณมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ HIV ควรรีบพบแพทย์ทันที ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี และตรวจหาโรคติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบบี ซี ดูค่าตับ ไต และรับยาต้านไวรัสฉุกเฉิน PEP (Post -Exposure Prophylaxis) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ โดยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน ยิ่งรับยาเร็วเท่าไรยาต้านไวรัสฉุกเฉินก็ยิ่งจะมีประสิทธิภาพ และเข้ารับการตรวจทุกครั้งตามแพทย์นัด และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้มีโอกาสรับเชื้อเพิ่ม